logo

คำถามเกี่ยวกับโรค

โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล

เรื่อง : โรคปริทันต์ หรือ โรครำมะนาด

โรคปริทันต์ หรือ โรครำมะนาด (Periodontal Disease) คือ โรคอักเสบเรื้อรังของเนื้อเยื่อทุกชนิดที่อยู่ล้อมรอบฟันซึ่งเรียกว่า เนื้อเยื่อปริทันต์ (ประกอบด้วย เหงือก เนื้อเยื่อเอ็นที่ยึดฟันให้ติดกับกระดูกเบ้าฟัน สารเคลือบรากฟัน และกระดูกกรามที่มีหน้าที่รองรับฟัน) ส่งผลให้เกิดปัญหาเหงือกอักเสบจนอาจถึงขั้นเป็นหนอง ฟันโยกคลอน ฟันหัก จนในที่สุดอาจลุกลามเป็นกระดูกกรามอักเสบติดเชื้อ

แบคทีเรียในช่องปากเป็นเชื้อหลักเกือบทั้งหมดที่ทำให้เกิดโรคปริทันต์ ทั้งนี้แบคทีเรียบางชนิดจะเจริญได้ดีในสภาพเป็นกรด ซึ่งอาหารที่บูดเน่าโดยเฉพาะแป้งและน้ำตาลเป็นอาหารกลุ่มที่จะทำให้เกิดกรดได้สูงเมื่อบูดเน่า อาหารบูดเน่าเหล่านี้เมื่อสะสมในช่องปากมักจะตกค้างอยู่ที่เนื้อเยื่อปริทันต์ ส่งผลให้เกิดเป็นคราบแบคทีเรียเกาะจับอยู่ตามเนื้อเยื่อเหล่านี้ที่เรียกว่า แผ่นคราบจุลินทรีย์ / ไบโอฟิล์ม / หินปูน / คราบหินปูน /หินน้ำลาย /  plaque ที่ส่งผลก่อให้เนื้อเยื่อปริทันต์เกิดการอักเสบ

หากไม่ได้รับการรักษา จุลินทรีย์และคราบหินปูนจะค่อยๆ ทำลายเนื้อเยื่อปริทันต์ ฟัน และรากฟัน จนเกิดการหลุดร่วงของฟัน นอกจากนี้แบคทีเรียที่ก่อโรคปริทันต์นี้ ยังสามารถเข้าสู่กระแสเลือดและเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดการอักเสบรุนแรงของโรคต่างๆ ที่ส่งผลต่อสุขภาพร่างกาย เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด  โรคเบาหวาน โรคข้อรูมาตอยด์ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคไตเรื้อรัง โรคสมอง มะเร็งช่องปาก และสุขภาพมารดาขณะตั้งครรภ์ที่รวมถึงทารกในครรภ์

  • เหงือก บวม แดง เลือดออกง่าย
  • เหงือกร่นมาก มีร่องระหว่างเหงือกและฟัน/ซอกฟันหลวม เศษอาหารตกค้างง่าย
  • มีกลิ่นปากเรื้อรัง
  • เสียวฟันมากผิดปกติ
  • ปวดฟันบ่อย ปวดฟัน เจ็บเหงือกผิดปกติเมื่อเคี้ยวของแข็ง
  • ฟันแตกง่าย
  • ปากคอแห้งมากเรื้อรัง โดยเฉพาะปากแห้งเหตุน้ำลายน้อย
  • ฟันโยกคลอน
  • ดูแลช่องปากและฟันตามคำแนะนำของทันตแพทย์ที่รวมถึงการใช้น้ำยาบ้วนปาก
  • กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนทุกวัน ลดอาหารหวาน อาหารแป้ง และไม่กินจุบจิบโดยเฉพาะอาหารหวานและอาหารแป้ง
  • รักษาความสะอาดช่องปากและฟันตามคำแนะนำของทันตแพทย์ ซึ่งทั่วไปคือ แปรงฟันให้ถูกวิธี ร่วมกับใช้ไหมขัดฟัน
  • เลิกบุหรี่ ไม่สูบบุหรี่
  • เลิกสุรา ไม่ดื่มสุรา
  • เมื่อมีผลข้างเคียงต่างๆ ที่เกิดกับช่องปากจากการใช้ยาต่างๆ เช่น ปากคอแห้งมาก ช่องปากเป็นแผลเรื้อรัง ต้องรีบพบแพทย์/ทันตแพทย์เสมอ เพื่อแพทย์พิจารณาปรับเปลี่ยนการใช้ยา และเพื่อการดูแลรักษาช่องปาก/ฟัน แต่เนิ่นๆ
  • พบทันตแพทย์สม่ำเสมอทุก 6 เดือน หรือบ่อยตามทันตแพทย์นัด